แผนกลยุทธ์ของโรงเรียนฟ้าใสวิทยา
แนวทางการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
การรับนักเรียนตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน
Best Practice กลุ่มอาชีพคหกรรม
Best Practice กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม
Best Practice กลุ่มอาชีพความคิดสร้างสรรค์
โรงเรียนฟ้าใสวิทยา จัดตั้งโดยมูลนิธิฟ้าใสให้ชีวิตใหม่ เป็นเจตนารมณ์ของนางดวงมาลย์ ศิลปอาชา ประธานมูลนิธิฟ้าใสให้ชีวิตใหม่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สมัยปี พ.ศ. ๒๕๔๒ และคณะผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในสมัยนั้น เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้มีแนวคิดที่จะนำการศึกษามาบำบัดปรับปรุงพฤติกรรม และเพื่อเพิ่มพูนปัญญามุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดีพึ่งพาตนเองได้ ไม่หันไปกระทำผิดอีก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กกลุ่มด้อยโอกาส ส่วนใหญ่มาจากสภาพครอบครัวที่มีปัญหา ความยากจนครอบครัวแตกแยก ขาดโอกาสทางการศึกษา
ปัจจุบันสังกัดสำนักบริหารงานศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดจากศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวให้เข้ารับการศึกษาเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น หรือมีอายุไม่เกิน ๑๘ ปี พร้อมฝึกอาชีพในระหว่างเรียนไปด้วย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาการด้านประกอบอาชีพทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มีความเชื่อมั่นและมั่นใจในตนเอง ว่าตนเองมีความสามารถมีคุณค่าทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น เกิดการยอมรับในครอบครัวและชุมชนในระหว่างเรียนนักเรียนได้รับการฝึกทักษะด้านอาชีพและการอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม พร้อมกลับคืนสู่สังคมโดยใช้ระบบการศึกษามาจัดเป็นหลักสูตรพิเศษ ผสมผสานระหว่างการศึกษาสายสามัญและการแก้ไข บำบัดรักษา อย่างครบวงจร ๔ ขั้นตอน คือ
๑. การบำบัดรักษา (Caring Therapy)
๒. พัฒนาการเรียนรู้(Leaning Development)
๓. ฟื้นฟูชีวิต (Rehabilitaion and Reintegration)
๔. ตามติดหลังปล่อย (Follow - up)
๑. การบำบัดรักษา (Caring Therapy) นักเรียนส่วนใหญ่เสพยาเสพติด พ่อแม่หย่าร้าง เป็นผู้ค้ายาเสพติด ปล้น พรากผู้เยาว์ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น โรงเรียนต้องบำบัดรักษา ถ้าติดยาก็ส่งไปบำบัดที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติทำกิจกรรมพัฒนาสังคม การดูแลด้านจิตใจ ทำกิจกรรมครอบครัวตามศาลนัด และต้องไปรายงานตนด้านพฤติกรรมต่อศาลที่ส่งตัวมาเรียนโดยโรงเรียนต้องเป็นผู้นำนักเรียนไปร่วมกิจกรรม จะไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองนำตัวไปเพราะผู้ปกครองจะควบคุมนักเรียนไม่ได้ทำให้ลูกตนเองแอบเสพยา หรือทำผิดซ้ำอีก โรงเรียนจึงต้องนำนักเรียนไปทำการบำบัดเอง เพื่อลดการทำผิดซ้ำและป้องกันการหลบหนี
๒. พัฒนาการเรียนรู้(Leaning Development) โรงเรียนต้องทำการคัดกรอง จัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP/IIP) ให้กับนักเรียนทุกคน เพราะนักเรียนที่ศาลฯส่งมา ระดับการศึกษาไม่เท่ากัน บางคนไม่เคยได้รับการศึกษาเลยอายุเกือบ 18 ปีแล้ว จึงต้องมีการคัดกรองและจัดทำIEP/IIP เพื่อจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับวัย และความสามารถที่มีอยู่ อย่างน้อยต้องจบการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐาน
๓. ฟื้นฟูชีวิต (Rehabilitaion and Reintegration)โรงเรียนจะทำอย่างไรที่จะให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม เมื่อจบการศึกษาแล้ว จากการคัดกรอง การจัดทำIEP/IIP ดูความสามารถและความต้องการด้านอาชีพ ให้กับนักเรียน โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนสร้างอาชีพและสร้างรายได้ระหว่างเรียนโดยการฝึกอาชีพและนำผลผลิตของนักเรียนไปจำหน่ายในวันที่ไปทำกิจกรรมที่ศาลที่ตนเองถูกส่งตัวมา ซึงปัจจุบันนักเรียนสามารถฝึกอาชีพและนำผลผลิตไปจำหน่ายยังศาลต่างๆ โดยเขาเป็นผู้ผลิตและกำหนดราคาจำหน่ายเองเป็นที่พอใจต่อศาลต่างๆ เป็นอย่างมาก
๔. ตามติดหลังปล่อย (Follow - up)โรงเรียนวางแผนกับผู้ปกครอง เมื่อนักเรียนจบการศึกษาแล้วจะทำอะไร ประกอบอาชีพอะไร เรียนต่อที่ไหน เรียนอะไร โรงเรียนและผู้ปกครองจะวางแผนร่วมกัน และเฝ้าติดตามสอบถามตลอดเวลา เพื่อป้องกันมิให้นักเรียนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก และคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เขาสามารถดำรงชีวิตและผ่านพ้นวิกฤตปัญหาที่เขาต้องกลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิมๆ ให้ได้ หรือหากเป็นไปได้โรงเรียนและผู้ปกครองจะร่วมกันไม่ให้นักเรียนกลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิมๆอีก
เป้าหมายบริการ
รับเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร ให้เข้ารับการศึกษาตั้งแต่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
สภาพแวดล้อมของโรงเรียน
สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนประกอบไปด้วยแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร ได้แก่ นาข้าวของโรงเรียน แปลงผัก สวนสมุนไพรไทย บ่อเลี้ยงปลา ต้นมะพร้าวรอบโรงเรียน และต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ซึ่งให้ความร่มรื่นพอสมควร ผู้บริหาร ครู และบุคลากรภายในโรงเรียนช่วยกันดูแลและเก็บผลผลิตจากการเกษตรทำให้สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนดูสวยงามและน่าอยู่ ตลอดจนนักเรียนได้ใช้เวลาว่างในการดูแล บริเวณโรงเรียนไม่มีรั้วล้อมรอบ ในบางวันอาจมีบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณเขตของโรงเรียนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในโรงเรียน ด้วยโรงเรียนเป็นโรงเรียนประจำ บางวันมีนักเรียนหลบหนีกลับบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต
สภาพแวดล้อมภายนอกโรงเรียน สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม บริเวณใกล้เคียงโดยรอบโรงเรียนเป็นนาบัว เป็นนาข้าวสวนกล้วยไม้ อาชีพหลักของชุมชนคือเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำใช้ในการเกษตรตลอดปี ในบริเวณข้างเคียงอาณาเขตติดต่อกันมีถนนกั้น เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ ซึ่งรับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดตามคำสั่งของศาล ได้แก่
ทิศเหนือ ติดศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุฑิตา ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านอุเบกขา
ทิศใต้ ติดศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก
ทิศตะวันออก ติดศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ
ทิศตะวันตก ติดเป็นสระน้ำขนาด ๑๐ไร่ ลึก ๒เมตร ต่อด้วยชุมชนริมคลอง
โรงเรียนฟ้าใสวิทยา จังหวัดนครปฐม สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่ตั้ง ๑๐๙ หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ๗๓๑๗๐ หมายเลขโทรศัพท์ ๐-๓๔๓๐-๐๔๗๐ หมายเลขโทรสาร ๐-๓๔๓๐-๐๔๗๐ ห่างจากตัวจังหวัด ๓๙ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๓๖ ไร่ ๒ งาน เขตพื้นที่การศึกษาที่ประสานงานด้านวิชาการ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต ๒
เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ รวม ๙ ห้องเรียน
แผนการจัดชั้นเรียน - ประถมศึกษา รวม ๖ ห้องเรียน
- มัธยมศึกษาตอนต้น รวม ๓ ห้องเรียน